ที่มาของดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร “ดอกเสลา”
“ดอกเสลา” (สะ-เหลา) ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร
ในช่วงเดือน ธันวาคม – มีนาคม ของทุก ๆ ปี บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร คือ ถนนพิษณุโลก -นครสวรรค์ หรือทางหลวงหมายเลข 117 จะมีดอกเสลาบานที่บริเวณถนนสองฟากฝั่งหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร เบ่งบานสะพรั่งสีม่วงสลับขาวสวยงาม ระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร บนบนถนน 12 เลน และพร้อมต้อนรับเทศกาลเดือนแห่งความรัก กว่า 500 ต้น โดยในแต่ละปีต้นเสลาบริเวณนี้จะบานสะพรั่งในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม และในปีนี้ต้นเสลาก็ได้ออกดอกสีม่วงสลับสีขาวเต็มต้นสวยงามทั้งสองข้างทาง บางต้นออกดอกสีม่วงสด บางต้นก็มีดอกสีขาว บางต้นก็มีดอกสีชมพู สลับกันไป ซึ่งตรงกับสีประจำจังหวัดพิษณุโลกคือสีม่วง
บันทึกจาก
รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก
• อดีตประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย 2 วาระ (พ.ศ. 2552 – 2554)
• อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยนเรศวร 2 วาระ (พ.ศ. 2547 -2555)
• กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
• คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยาคนแรก (พ.ศ. 2556)
ท่านได้เขียนไว้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2550 ใน GotoKnow ว่า “ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มีนาคม ของทุกปี ชาวมหาวิทยาลัยนเรศวรจะเห็นดอกเสลาบานสพรั่ง ต้อนรับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต เนื่องด้วยการรับพระราชทานปริญญาบัตรของทุกปี มักจะเป็นเดือนธันวาคม เดือนที่เสลาบาน”
เมื่อพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 29 กรกฎาคม 2533 ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ มีกิจกรรมที่ต้องทำมากมาย และกิจกรรมหนึ่ง คือ เลือกต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ความคิดแรก ๆ ชื่อต้นไม้ต่าง ๆ ถูกรายเรียงเป็นตัวเลือก แต่เมื่อหาข้อมูลเพิ่มกลับพบว่า หลายๆ ชื่อเป็นต้นไม้ประจำจังหวัด หรือประจำมหาวิทยาลัยไปหมดแล้ว ในที่สุดคณะกรรมการก็สรุปว่าควรเสนอ “ต้นเสลา” ให้ประชาคมชาวมหาวิทยาลัยนเรศวรพิจารณา เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่พบมากในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดพิษณุโลกซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนเรศวร
เสลา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lagerstroemia Loudonii ตระกูล Lythaceae ถิ่นกำเนิดเอเชียเขตร้อน ลักษณะทั่วไปเป็นพรรณไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 20 เมตร ผลัดใบเรือนยอดกลมหรือทรงกระบอก หนาทึบ ใบเดี่ยวรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่ง โคนมน ใบหนา และมีขนนุ่มทั้ง 2 ด้าน ออกดอกเป็นช่อตามกิ่ง มี 6 กลีบ โคนคอดเป็นก้านสั้น มีหลายสีเช่น ขาว ม่วง ม่วงอมแดง กลีบดอกบางยับย่น ออกดอกเดือนธันวาคม-มีนาคม ผลกลมรี เปลือกแข็ง เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 5-6 พู เมล็ดจำนวนมากมีปีก เปลือกต้นสีเทาเข้มเกือบดำ ผิวขรุขระ มีรอยแตกเป็นทางยาว กิ่งโน้มลงต่ำ โตช้า
เหตุผลประการสำคัญอีกประการหนึ่งคือนัยว่า สีม่วง เป็นสีประจำพระองค์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นสีประจำจังหวัดพิษณุโลกด้วย
ได้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงมติให้ความเห็นชอบให้ต้นเสลาเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร ปรากฏว่าได้รับประชามติอย่างท่วมท้น ต้นเสลาจึงเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวรนับแต่เริ่มเป็นมหาวิทยาลัยเป็นต้นมา “ดอกเสลา” จึงเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร
ในช่วงระหว่างเดือน ธันวาคม-มีนาคม ของทุกปี ชาวมหาวิทยาลัยนเรศวรจะเห็นดอกเสลาบานสพรั่ง ต้อนรับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต เนื่องด้วยการรับพระราชทานปริญญาบัตรของทุกปี มักจะเป็นเดือนธันวาคม เดือนที่เสลาบาน
นอกจากชาวมหาวิทยาลัยนเรศวรจะได้ชื่นชมดอกเสลาบานในบริเวณมหาวิทยาลัยแล้ว ด้านหน้ามหาวิทยาลัยทั้งซ้าย-ขวา ถนนสายพิษณุโลก-นครสวรรค์ จะมีเสลาบานชูช่อเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับกรมทางหลวง เคยมีข้อเสนอผ่านผมว่า เราน่าจะจัดเทศกาล “เสลาบาน” เหมือนญี่ปุ่นมีเทศกาล “ซากุระ” จะดีไหม ? ช่วยตอบแทนผมที…. รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก
ครั้งหนึ่งเคยถูกจะนำออก
เมื่อประมาณปี 2559 กรมทางหลวงมีโครงการจะขยายช่องทางจราจรบริเวณดังกล่าว และจะต้องตัดโค่นต้นเสลาทิ้งทั้งหมด เนื่องจากต้นเสลาเป็นไม้ยืนต้น รากไชชอนจนทำให้ถนนคอนกรีตแตก ส่งผลให้รถยนต์ที่วิ่งมาบนถนนหมายเลข 117 เลนขวาสุดบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย ฯ ต้องชะลอ แขวงการทางพิษณุโลกต้องซ่อมแซมถนนเป็นประจำ
แต่อีกด้านหนึ่ง หากโค่นต้นเสลาเพื่อแก้ปัญหากลับสร้างความเสียใจแก่คณะอาจารย์ ศิษย์เก่า และนิสิตอย่างมาก จึงได้มีการคัดค้าน และร่วมกันใช้ผ้าขาวผูกต้นเสลาข้างทางเพื่อประท้วงคัดค้าน และแสดงอาลัยต้นเสลา กระทั่งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) มีมติให้คงสภาพและรักษาต้นไม้ดังกล่าวเอาไว้เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์หน้ามหาวิทยาลัยนเรศวรสืบต่อไป และในที่สุดงบประมาณของแขวงการทางพิษณุโลกที่ 1 ที่เตรียมไว้ในการปรับขยายถนน และเตรียมโค่นต้นเสลาเพื่อปลูกเฟื่องฟ้า-ชาฮกเกี้ยนแทน จำนวน 24,960,529 บาท ตกไป ประกอบกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินลงพื้นที่ตรวจสอบ ทุกอย่างจึงต้องยุติลง
(1) Facebook เพลง ดอกเสลา
ที่มาข้อมูล งานศิษย์เก่าสัมพันธ์ กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร. (2564). ที่มาของดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร. สืบค้นเมื่อ. วันที่ 18 มีนาคม 2565.