การพัฒนาห้องสมุดสีเขียว สำนักหอสมุด มีการดำเนินงานตามเกณฑ์มาตรฐานห้องสมุดสีเขียว ปี 2558 หมวดที่ 3 การจัดการทรัพยากรและพลังงาน เรื่องนี้มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ลดปริมาณของเสีย หลีกเลี่ยงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ภายในและภายนอกอาคาร รวมถึงหน่วยงานที่เข้ามาใช้พื้นที่ของสำนักหอสมุด เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
ในที่นี้ สำนักหอสมุดร่วมเป็นสื่อกลางให้นิสิตและบุคคลทั่วไปทราบถึงแหล่งรับบริจาคปฏิทินเก่า และเพื่อรณรงค์การลดการใช้ทรัพยากร (ปฏิทินเก่า) ไม่ทิ้งไป หรือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
1. นำไปบริจาค
ปฏิทินเก่าแบบตั้งโต๊ะ สามารถนำไปบริจาคให้มูลนิธิคนตาบอด เพื่อนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับคนตาบอดได้ ซึ่งสถานที่บริจาคปฏิทินเก่า สามารถบริจาคได้ที่มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ฯ และใช้ในการผลิตสื่ออักษรเบลล์
มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ 420 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
2. นำภาพเข้ากรอบ ป้ายในงานบริการ และภาพแขวนผนัง
ปฏิทินส่วนใหญ่อีกด้านหนึ่งมักจะเป็นภาพวาด ภาพการออกแบบหรือใช้วัสดุที่ดูหรูหรา สวยงาม และภาพถ่ายสวย ๆ โดยศิลปินมีชื่อเสียง ซึ่งเราอาจจะนำภาพเหล่านั้นมาตัดแล้วใส่กรอบแขวนประดับบนผนังบ้าน เป็นของตกแต่งบ้านได้
ภาพตัวอย่าง ของการนำปฏิทินมาใช้ของห้องสมุดสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ฝ่ายบริการสารสนเทศ สำนักหอสมุด
3. นำมาทำคู่มือการให้บริการภายในห้องสมุด
ปฏิทินมีหลายหน้าที่เปิดอ่านได้ สามารถนำมาทำคู่มือการให้บริการต่าง ๆ หรือจัดทำภาพสวยใส่เป็นแกลอรี่ส่วนตัวได้เพื่อเป็นของขวัญให้คนพิเศษได้อีกด้วย
4. ทำเป็นกระดาษห่อของขวัญ
ปฏิทินเก่าที่มีสีสันสวยงาม ลาดลายกราฟิกเก๋ ๆ สามารถนำมาใช้เป็นกระดาษห่อของขวัญ หรือนำมาห่อหนังสือหรือห่อสมุดเพื่อเพิ่มความสวยงามได้
5. นำไปทำกรอบรูป
สำหรับแกนเดิมของปฏิทินที่เราอาจจะไม่ได้ใช้ภาพไปติดผนัง เราก้สามารถนำภาพถ่าย หรือภาพอื่น ๆ ที่เราชอบมาติดลงไปแทนได้ ทำให้ปฏิทินเก่ากลายเป็นกรอบรูปที่สามารถเปลี่ยนรูปภาพไปได้เรื่อย ๆ อีกด้วย
ทั้งหมดคือ 5 ประโยชน์จากปฏิทินเก่า ที่นำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง เมื่อรู้แบบนี้แล้วปฏิทินเก่า อย่านำไปทิ้งให้เปล่าประโยชน์นะคะ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก MIW Group